สกุลช่าง


      สกุลงานช่างในงานด้านสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม ประติมากรรม เครื่องปั้นเผาต่างๆ โดยมากงานสกุลช่างในแต่ละด้าน ช่างจะมีพรสวรรค์ ความละเอียดอ่อน ความประณีตไปตามศาสตร์และศิลป์เฉพาะตัวของแต่ละสกุลช่าง ซึ่งในสมัยที่ย้อนยุคกลับไปเมื่อ 2000-4000 ปีที่แล้ว การพัฒนาการด้านศิลปะเป็นไปด้วยความลำบาก เพราะเป็นจุดเริ่มต้นงานศิลปะยุคแรกๆ การใช้วัสดุอุปกรณ์ในการทำให้เกิดงานศิลปะในสมัยนั้นเป็นเรื่องยาก และเป็นเรื่องใหญ่สำหรับมนุษย์ในยุคนั้น ชิ้นงานศิลปะในตอนนั้น การทำงานไม่มีเครื่องทุ่นแรง วัสดุอุปกรณ์หายาก ต้องดัดแปลงวัสดุอุปกรณ์จากธรรมชาติล้วนๆ เช่น ต้นไม้ หินภูเขา  หินทะเล และดินเหนียวจากที่ต่างๆเป็นพื้นฐาน ชิ้นงานจึงดิบและแข็งกระด้างในสายตาของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน แต่คุณค่าทางประวัติศาสตร์ศิลปะถือได้ว่ามีคุณค่าและยิ่งใหญ่มาก เพราะจิตวิญญาณที่ใส่ลงไปในชิ้นงานทั้งการแกะสลักหิน แกะสลักไม้ ปั้นดินเหนียวแล้วเผาเป็นภาชนะต่างๆ มีพลังทางจิตวิญญาณสูงมาก ทั้งยังบริสุทธิ์ในด้านสุนทรียรส สุนทรียภาพ ไม่มีการปรุงแต่งในจิตใจ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไป ตามธรรมชาติของจิตวิญญาณในสกุลช่างในยุคนั้นๆ งานแต่ละชิ้นจึงแสดงความขลังและอานุภาพมาจนถึงปัจจุบันนับร้อยนับพันหรือนับหมื่นปี เท่าที่มนุษย์ย้อนประวัติศาสตร์ตามหลักฐานที่พบและค้นหาเจอ จึงสามารถติดตามยุคสมัยในอดีตถึงสกุลงานช่างจากอดีตจนถึงปัจจุบัน สามารถเข้าถึงศิลปินผู้นำในด้านต่างๆในยุคย้อนกลับไป เห็นความสุนทรียรส   วิธีคิด ความลึกซึ้ง ความประณีต จิตที่ละเอียดอ่อน ความศรัทธามุ่งมั่น ตั้งใจในงานศิลปะ ซึ่งอิทธิพลของวัฒนธรรม ประเพณี การเมือง การปกครอง เป็นปัจจัยหลักในการกำหนดแนวทางการสร้างงานด้านต่างๆ ของศิลปินในแต่ละยุคสมัย และยังเกิดลัทธิทางความคิดในงานศิลปะด้านสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม ประติมากรรม เครื่องปั้นเผา ฯลฯ ที่เป็นทั้งเชิงบวกและเชิงลบตามความนึกคิด และการตกผลึกของมนุษย์กับงานด้านศิลปะ สกุลงานช่างที่วิจิตรพิสดาร งานสร้างอันน้อยนิดจนถึงงานยิ่งใหญ่ อลังการเท่าที่สติปัญญาของมนุษย์ชาติจะทำได้โดยไม่ขัดแย้งอย่างสุดขั้วกับสภาวะที่ธรรมชาติรองรับ แต่สกุลงานช่างในแขนงต่างๆ จะต้องค้นหาหลักสมดุล กฎแห่งธรรมชาติตามสัจจธรรมชาติให้ได้

                      ผู้เขียนขออาราธนาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากลโลกและพิภพจักรวาลทั้งหลายทั้งปวงจงบังเกิดแก่ครูบาอาจารย์ สกุลช่างทุกสกุล ที่รังสรรค์งานศิลปะอันยอดเยี่ยมในโลกใบนี้ให้รับบุญกุศลและบารมีทางสติปัญญา หรือปัญญาบารมีทุกสกุลช่างด้วยเทอญ.

 

พิสุทธิศักดิ์(สิทธิชัย)   ประทุมสุวรรณ

ผู้เขียน                             

 


ศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมซีกโลกตะวันตก
ประวัติศาสตร์ศิลปะและปรัชญาแนวคิดในแต่ละยุคสมัย

สกุลช่างในงานด้านศิลปะและสถาปัตยกรรม
คอสมาติ    Cosmati
                                โรงฝึกช่างหินอ่อน ช่างโมเสก หรือประติมากรในกรุงโรมในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 12-14 พวกช่างเหล่านี้ตกแต่งโบสถ์หรือสถาปัตยกรรมอื่นๆ ด้วยโมเสกจากแก้วหรือหินอ่อนประดับบาทวิถี แท่นบูชา เครื่องเรือน เครื่องแต่งโบสถ์  หรือการประดับประดาอื่นๆ ชื่อนี้ได้มาจากตระกูลสองตระกูล คือ Cosmas และ Cosmatus ซึ่งเป็นสองตระกูลในบรรดาตระกูลช่างทั้งหลายที่ทำงานในด้านนี้  ช่าง Cosmati พวกนี้จะเซ็นต์ชื่อของผู้ทำงานบนผลงานสำเร็จ อันต่างไปจากช่างกลุ่มอื่นๆ ในยุคกลางซึ่งทำงานในลักษณะนิรนาม คำว่างานสกุล Cosmati มักจะใช้เรียกงานประดับตกแต่งในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 13 ในกรุงโรม โดยเฉพาะงานตกแต่งแบบโมเสกจากหินอ่อนและฝังลายด้วยแก้วหรือหินสี



ศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมซีกโลกตะวันตก
ประวัติศาสตร์ศิลปะและปรัชญาแนวคิดในแต่ละยุคสมัย

สกุลช่างในงานด้านศิลปะและสถาปัตยกรรม
สกุลช่างเพอร์กามีเน Pergamene school
                                สกุลช่างเพอร์กามีเน สกุลช่างแกะสลักประติมากรรม แฮลเลนิสติก ในช่วงยุคประมาณ 300 ปีก่อนคริสตกาล อยู่ในนครโบราณชื่อ เพอร์กามัม (เพอร์กามอน) ในเอเชียน้อย ผลงานประติมากรรมของสกุลช่างนี้มีลักษณะเด่นที่ผลงานนั้นเต็มไปด้วยพลังอย่างเอกอุ ร่างในประติมากรรมมักจะถูกถ่ายทอดในลักษณะที่กล้ามเนื้อบนส่วนต่างๆ ของร่างกายบิดเกร็ง ผลงานแกะสลักชิ้นที่โดนที่สุดเห็นจะได้แก่ ภาพแกะสลักหน้าแท่นบูชาที่งดงามยิ่งในวิหารของเทพเซอุส ซึ่งเป็นวิหารสำคัญใน เมืองเพอร์กามัม  กระดาษหนัง (ซึ่งมาจากคำในภาษาละติ "เพอร์กามินา") ก็มาจากคำว่า เพอร์กามัม  เช่นกัน




ศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมซีกโลกตะวันตก
ประวัติศาสตร์ศิลปะและปรัชญาแนวคิดในแต่ละยุคสมัย

สกุลช่างในงานด้านศิลปะและสถาปัตยกรรม
สำนักศิลปะด้านทัศนศิลป์ Academy
                                สำนักศิลปะด้านทัศนศิลป์ ซึ่งมีเป้าหมายในการส่งเสริมงานศิลปะประจำชาติ การฝึกฝนนักศิลปะรวมทั้งส่งเสริมสถานภาพด้านวิชาชีพและเศรษฐกิจของมวลสมาชิกด้วยการจัดงานนิทรรศการศิลปะขึ้นเป็นระยะๆ รวมทั้งเป็นที่ให้คำปรึกษาหารือ ประเทศอิตาลีเป็นประเทศแรกที่ก่อตั้งสำนักศิลปะแห่งชาติของตนขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่สิบหก ส่วนสถาบันศิลปะแห่งชาติของฝรั่งเศสกำเนิดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่สิบเจ็ดของประเทศอังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่สิบแปด และประเทศสหรัฐอเมริกาในคริสต์ศตวรรษที่สิบเก้า  สำนักศิลปะได้รับศักดิ์และสถานภาพอันมีเกียรติในสังคมศิลปะจึงมักยึดมั่นและอนุรักษ์งานศิลปะ ซึ่งมีคุณสมบัติตามาตรฐานทางหลักวิชาด้านศิลปะ และละเลยความสนใจต่องานศิลปะที่มิได้มีคุณสมบัติดีเด่นตามเกณฑ์นั้น สำนักศิลปะมักถูกต่อว่าที่ให้การสนับสนุนงานศิลปะที่ได้รับการปฏิเสธจากยุคสมัยก่อนๆ อยู่เนืองๆ และละเลยงานศิลปะแนวก้าวหน้าของยุคสมัยของตนทิ้งไว้ ให้บุคคลที่จะบริหารสถาบันในยุคต่อมาพิจารณาและหามาตรฐานใหม่ที่เข้มงวด เช่นเดียวกับหลักเกณฑ์เดิม

                                ในระหว่างยี่สิบห้าปีแรกของคริสต์ศตวรรษที่ยี่สิบ ผลงานศิลปะที่มีลักษณะล้ำยุคไปจากเกณฑ์ หรือมาตรฐานแบบคริสต์ศตวรรษที่สิบเก้าของสำนักศิลปะแทบจะไม่มีโอกาสปรากฏตัว นอกเหนือจากการแสดงนิทรรศการเดี่ยวเท่านั้น แต่จากการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่และ ความนิยมศิลปะแบบนามธรรมและศิลปะสมัยใหม่รูปแบบอื่นของสังคมธุรกิจด้านศิลปะเพิ่มพูนขึ้น นักศิลปะสมัยใหม่เริ่มหลุดพ้นจากอาณัติและความต้องการในการยอมรับนับถือจากสถาบัน การคัดง้างกรณีพิพาทระหว่างนักศิลปะแนวสถาบันและนักศิลปะนอกสถาบันที่เคยมีมาแต่กาลก่อนก็เริ่มลดความรุนแรงลง แต่สถาบันศิลปะยังคงดำรงฐานะเป็นศูนย์กลางของศิลปะ ที่ทำตามระบบและหลักวิชาต่อไป สถาบันศิลปะแห่งชาติที่สำคัญได้แก่ สถาบันวิจิตรศิลป์ (Academie des Beaux - Arts) แห่งนครปารีส สำนักราชบัณฑิตศิลปะ

 

 


ศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมซีกโลกตะวันตก
ประวัติศาสตร์ศิลปะและปรัชญาแนวคิดในแต่ละยุคสมัย

สกุลช่างในงานด้านศิลปะและสถาปัตยกรรม
สกุลช่างหรือกลุ่มจิตรกร School
                                สกุลช่างหรือกลุ่มจิตรกร เป็นคำที่ใช้ในด้านศิลปะ หมายถึงแหล่ง ชาติกำเนิด (ตัวอย่างเช่น สกุลช่างชาวเฟลมมิช) หรือแนวทางด้านศิลปะ (ตัวอย่างเช่น กลุ่มจิตรกรแนวธรรมชาตินิยม)  หรือในความหมายที่เกี่ยวข้องกับขบวนการด้านศิลปะของจิตรกรหรือผลงานของเขา (ตัวอย่างเช่น กลุ่มลัทธิประทับใจ) รวมทั้งยังใช้ระบุถึงผลงานของศิลปินนิรนามโดยระบุถึงครูช่างที่ควบคุมการทำงานของศิลปินเหล่านั้น (ตัวอย่างเช่น สกุลช่างของจอตโต) หรือใช้ระบุถึงสภาพที่ตั้งและยุคสมัย   (เช่น  สกุลช่างชาวเมืองเซียนนา) ซึ่งส่งอิทธิพลต่อผลงานศิลปะชิ้นนั้นหรือเหล่านั้นอย่างเห็นได้เด่นชัด




ศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมซีกโลกตะวันตก
ประวัติศาสตร์ศิลปะและปรัชญาแนวคิดในแต่ละยุคสมัย

สกุลช่างในงานด้านศิลปะและสถาปัตยกรรม
สถาบันวิจิตรศิลป์แห่งราชบัณฑิตยสถานของฝรั่งเศส
Academie  des   Beaux - Arts
                                สถาบันวิจิตรศิลป์แห่งราชบัณฑิตยสถานของฝรั่งเศส กิจกรรมหลักของสถาบันนี้ คือการให้ทุนสนับสนุนสถาบันโบซาร์ และการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติซึ่งจัดแสดงงานศิลปะทุกปีในนครปารีส สถาบันนี้เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในนามของ The Academy ซึ่งเป็นคนละแหล่งกับสถาบันฝรั่งเศส (The French Academy) หรือที่มีชื่อในภาษาฝรั่งเศสว่า Academie Francaise ซึ่งเป็นสถาบันกิตติมศักดิ์ทางด้านวรรณกรรม

 


ศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมซีกโลกตะวันตก
ประวัติศาสตร์ศิลปะและปรัชญาแนวคิดในแต่ละยุคสมัย

สกุลช่างในงานด้านศิลปะและสถาปัตยกรรม
กลุ่มจิตกรแห่งปารีส School of Paris
                                

กลุ่มจิตรกรแห่งปารีส เป็นคำที่ใช้ระบุอย่างกว้างๆ ถึงกลุ่มจิตรกรที่ทำงานสร้างสรรค์อยู่ในนครปารีสในคริสต์ศตวรรษที่ยี่สิบจวบจนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งในที่นี้ไม่รวมถึงจิตรกรกลุ่มนามธรรมและกลุ่มศิลปะลัทธิเหนือจริง จิตรกรกลุ่มนี้เฟื่องฟูสูงสุดในระหว่างทศวรรษที่ 1920 และ 1930 ซึ่งเป็นช่วงที่เหล่าศิลปินพากันเห็นว่านครปารีสเป็นแหล่งที่จะเปิดหนทางให้เหล่าศิลปินได้แสวงหาตนเอง คำๆนี้มิได้หมายถึงแบบอย่างศิลปะแบบใดแบบหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ใช้หมายรวมถึงผลงานศิลปะในคติโฟฟส์ ( The Fauves) ผลงานศิลปะของกลุ่มบาศกนิยม (ซึ่งมักจะถือว่า ปิกัสโซ เป็นศิลปินผู้โดดเด่นคนหนึ่งในกลุ่มนี้) รวมทั้งผลงานของศิลปินจำนวนมาก ได้แก่ อะเมดิโอ โมดิลยานิ (ค.ศ. 1884 – 1920) จูลส์ ปาสแซง (ค.ศ. 1885 – 1930) คิยิม ซูทีน (ค.ศ. 1843 – 1894) มาร์ก ชาร์กัลล์ (ค.ศ. 1887 – 1985) โมริซ อูตริโย (ค.ศ. 1883 – 1955) และ มัวอีส คิสลิง (ค.ศ. 1891 – 1953) ศิลปินอเมริกันไม่ว่าจะทำงานอยู่ในนครปารีสหรืออยู่ในบ้านเกิดของตนต่างก็ได้รับอิทธิพลทางด้านศิลปะจากกลุ่มนี้จนถือกันว่าพวกเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มจิตรกรปารีส

 


ศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมซีกโลกตะวันตก
ประวัติศาสตร์ศิลปะและปรัชญาแนวคิดในแต่ละยุคสมัย

สกุลช่างในงานด้านศิลปะและสถาปัตยกรรม
สถาบันด้านศิลปะ Dusseldorf  School
                                สถาบันด้านศิลปะ ก่อตั้งขึ้นที่เมืองดืสเซลดอร์ฟ ในประเทศเยอรมนี ใน ค.ศ. 1767 ผลงานศิลปะที่ทำให้สถาบันนี้มีชื่อในระหว่างทศวรรษ  1830  และ  1840 คืองานประเภทที่ถ่ายทอดทิวทัศน์ในชีวิตประจำวัน ที่เต็มไปด้วยอารมณ์ ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากจิตรกรกลุ่มจินตนิยมของอิตาลี กลุ่มสกุลช่าง "นาซารีน" งานศิลปะเหล่านี้จัดอยู่ในพวกศิลปะบีเอร์ไมเออร์ แต่ศิลปินเหล่านี้ได้รับการฝึกอย่างทุ่มเท  อิทธิพลของงานศิลปะในลักษณะนี้ครอบคลุมไปไกลถึงประเทศสหรัฐอเมริกา ดังจะเห็นได้จากผลงานทิวทัศน์ในแบบอย่างจินตนิยมของจิตรกรของอเมริกัน ชื่ออัลเบิร์ต  เบียร์สตัดท์ และจิตรกรคนอื่นๆ


สกุลช่างแห่งเมืองโคโลญ (School of Cologne)

สกุลช่างแห่งเมืองโคโลญ (School of Cologne)

                สกุลช่างแห่งเมืองโคโลญ คือกลุ่มของจิตรกรในเมืองโคโลญ จากปลายศตวรรษที่สิบสี่ถึงกึ่งคริสต์ศตวรรษที่สิบหก จิตรกรส่วนใหญ่ที่อยู่ในกลุ่มนี้เป็นศิลปินนิรนาม ผลงานของพวกเขาส่วนใหญ่แล้ว เป็นผลงานด้านตกแต่งโบสถ์ซึ่งมักจะนิยมถ่ายทอดรูปแสดงลักษณ์ ที่งดงามตามแบบอุดมคติตามอย่างผลงานของสกุลช่างชาวเบลเยี่ยมโบราณ (เฟลมมิช) และดัตช์มาอย่างเนิ่นนาน และมักจะถ่ายทอดในแบบเหมือนจริง อย่างไรก็ตามอิทธิพลของการทำงานในลักษณะแบบเดิร์ก เบาท์สก็มีผลสร้างความสนใจให้แก่วงการศิลปะ ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่สิบห้า จิตรกรที่มีชื่อเสียงที่สุดของสกุลช่างโคโลญ ได้แก่ สเตฟาน โลชเนอร์ ผู้ซึ่งสร้างผลงานของเขา ณ ที่นี้ในช่วงกึ่งคริสต์ศตวรรษที่สิบห้า จิตรกรคนสำคัญคนสุดท้ายของสกุลช่างนี้คือ บาร์โทโลเมียส บรูน  สิ้นชีวิตลงใน ค.ศ. 1555


การอนุรักษ์ศิลปกรรมและสถาปัตยกรรม (Crading)

การอนุรักษ์ศิลปกรรมและสถาปัตยกรรม (Crading)

                 ในการอนุรักษ์ศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมนั้น (Crading) หมายถึงการเสริมแผงไม้ซึ่งเป็นวิธีการที่ทำกันมาแต่โบราณหลังจากที่ใช้เครื่องมือหลายชนิดกากแผงไม้ที่ชำรุดนั้น เพื่อให้บางลงจะนำชิ้นริ้วไม้เนื้อแข็ง ติดกาวฝังลงในเนื้อไม้ตามแนวดิ่งตามลายไม้ทางด้านหลังของแผงไม้นั้น ด้านใต้ริ้วไม้เหล่านี้จะเซาะเป็นร่องรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเป็นระยะๆ ซึ่งจะมีชิ้นไม้แบนๆ สอดผ่านไปตามแนวนอนในลักษณะขวางเสี้ยน ไม้ชิ้นที่สอดในร่องตามแนวนอนนี้จะเป็นไม้เนื้อแข็งชนิดเดียวกัน และสอดลงในร่องโดยไม่ติดกาว คือสามารถเคลื่อนได้โดยอิสระ เผื่อไว้ในกรณีที่แผงไม้อาจขยายหรือหดตัวในภายหลัง รวมทั้งกันไม่ให้เนื้อไม้แตกแยก การเสริมแผงไม้ในลักษณะนี้มีการทำกันมานานมากกว่าสองร้อยปี  และก็ยังเป็นวิธีการที่ใช้กันอยู่แพร่หลาย แต่นักอนุรักษ์ในปัจจุบันเลิกใช้ไปแล้ว เพราะมีวิธีการเสริมแผงไม้วิธีอื่นอีกหลายวิธีให้ใช้ คำนี้ยังใช้เรียกการเสริมแผงไม้ฝาบ้านอีกด้วย โดยการนำแผ่นไม้มาปะกาวกับริ้วไม้


หลักทัศนียภาพวิทยาเชิงเส้น (Linear perspective)

หลักทัศนียภาพวิทยาเชิงเส้น (Linear perspective)

                 หลักทัศนียภาพวิทยาเชิงเส้น ระบบมาตรฐานของทัศนียภาพวิทยาเชิงเส้นเรขาคณิต ซึ่งมีมาตรฐานมาจากโครงสร้างบนพื้นระนาบภาพ (ดูที่คำ Picture plane) ซึ่งอาจมาจากโครงสร้างที่มีอยู่จริงหรือจินตนาการขึ้น โครงสร้างนั้นจะอยู่ลักษณะของเส้นซึ่งตั้งฉากคู่ขนานกัน เบนเข้าบรรจบกันที่จุดรวมสายตา (ดูที่คำ Vanishing point) บนเส้นขอบฟ้า (ดูที่คำ Horizon line) พื้นระนาบภาพจะแบ่งความลึกของพื้นที่ตามแนวนอนออกเป็นเขตต่างๆ (ดูที่คำ Zones of recession) โครงสร้างของรูปแท่งสี่เหลี่ยมผืนผ้าอาจถูกถ่ายทอดตามหลักทัศนียภาพวิทยาเชิงเส้นได้ 3 ระบบ คือ หลักทัศนียวิสัยเชิงเส้นขนาน หลักทัศนียวิสัยเชิงมุม และหลักทัศนียวิสัยเชิงเส้นเฉียง (ดูที่คำ Parallel perspective, Angular perspective , Obvious perspective) หลักทัศนียภาพวิทยาเชิงเส้นซึ่งได้คิดค้นและฝึกฝนกันมาตั้งแต่สมัย ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา เป็นระบบการถ่ายทอดความเป็นสามมิติลงบนผลงานสองมิติที่แตกต่างไปจากการถ่ายทอดทัศนียวิทยาเชิงอากาศ (ดูที่คำ Aerial perspective) ซึ่งมีรากฐานจากการใช้สีระบายสร้างมิติหรือความรู้สึกนูน-เว้า-ใกล้-ไกล ขึ้นในภาพ หรือจากระบบเฉพาะ เช่น การถ่ายทอดโดยใช้วิธีการ ทัศนียวิสัยเชิงลอย (ดูที่คำ Sotto in su ) ซึ่งใช้ในการแก้ปัญหาด้านทัศนวิสัยบางประเภทโดยเฉพาะ เมื่อผลงานศิลปะถูกกระทำโดยยึดหลักเกณฑ์ด้านทัศนียวิทยาเชิงเส้นอย่างเป็นระบบ ผลงานนั้นจะได้รับการขนานนามว่า เป็นงานที่ยึดหลักเกณฑ์อย่างเคร่งครัด แต่จากคำแนะนำในตำรา หรือคู่มือสำหรับการปฏิบัติงานศิลปะ ซึ่งเขียนขึ้นในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 18 เกี่ยวกับเรื่องการใช้หลักการทัศนียภาพวิทยา มักจะแนะจิตรกรมิให้ยึดติดกับหลักการอย่างเอาเป็นเอาตายจนเกินไปนัก


 
จำนวนผู้เข้าชม :: Free Web Counter
AmazingCounters.com