การเขียนภาพร่าง (Croquis / Sketch)

 

การเขียนภาพร่าง (Croquis / Sketch)

                ศัพท์ภาษาฝรั่งเศสใช้เรียกงานเขียนภาพร่าง (Sketch) ด้วยปากกา ดินสอ หรือแท่งถ่านบนแผ่นกระดาน เพื่อการร่างภาพด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม หรือจิตรกรรม ภาพร่างนี้เป็นเสมือนการถ่ายทอดทิวทัศน์ที่ศิลปินประทับใจ หรือวัตถุสิ่งของ หรือผู้คนที่ศิลปินพบเห็น หรือเป็นการบันทึกสิ่งก่อสร้างและเหตุการณ์ที่ศิลปินจินตนาการขึ้น ภาพร่างนี้ได้ชื่อว่าเป็นการจดตัวเลขของเหล่าจิตรกรและสถาปนิก ภาพร่างมักจะวาดด้วยเส้นหยาบๆ เต็มไปด้วยพลังตวัดไปมาอย่างรวดเร็ว เพื่อจับอากับกิริยาความรู้สึกแล้วบันทึกลงให้ทันท่วงที คำนี้ใช้กันน้อยในประเทศอังกฤษ ยกเว้นในกลุ่มผู้ศึกษาศิลปะหรือสถาบันศิลปะ ส่วนมากใช้เรียกการฝึกร่างภาพในห้องเรียนโดยไม่ต้องมีครูสอน

 

 
 

การถ่ายรูปร่างวัตถุโดยการลากเส้นขนาน (Projection)

การถ่ายรูปร่างวัตถุโดยการลากเส้นขนาน (Projection)

                การถ่ายรูปร่างวัตถุโดยการลากเส้นขนาน คือโครงสร้างชนิดที่ใช้ในงานเขียนแบบ เป็นระบบทัศนียภาพวิทยาซึ่งมิใช่ในเชิงเส้น(linear) คือไม่มีจุดรวมสายตา แต่คล้ายคลึงหลักการของ ทัศนียภาพวิทยาเชิงเส้นในกรณีที่ว่าการถ่ายรูปร่างวัตถุในวิธีการนี้ จะถ่ายทอดในลักษณะสามมิติ ซึ่งถ่ายทอดลงบนสื่อสองมิติ (ระนาบแบนๆ ของแผ่นกระดาษเขียนแบบ) ส่วนที่แตกต่างกับหลักการของทัศนียภาพวิทยาเชิงเส้นก็คือ ทัศนียภาพวิทยาเชิงเส้นนั้นมุ่งสร้างการลวงตาให้ดูเหมือนว่าเห็นวัตถุนั้นๆ ในความเป็นจริงระบบการถ่ายรูปร่างวัตถุโดยวิธีลากเส้นขนานนี้ จะนำไปใช้ในงานเขียนแบบ เพื่อมุ่งที่จะถ่ายทอดความเป็นจริงของขนาดสัดส่วนและมิติจริงของวัตถุเป็นสำคัญ และเพื่อที่จะให้ถ่ายแบบในลักษณะนี้ ก็จำเป็นที่ว่าภาพโครงสร้างของงานเขียนแบบนั้น อาจจะดูผิดแปลกไปบ้างในด้านการรับรู้ทางการเห็น การถ่ายรูปร่างวัตถุโดยวิธีลากเส้นขนานนี้มี 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ Axonometric และ Oblique หมวดที่เรียกว่าแอกโซโนเมตริกนั้น ได้แก่การถ่ายรูปร่างวัตถุ โดยวิธีลากเส้นขนานแบบไอโซเมตริก ไดเมตริก และ ไตรเมตริก ซึ่งมีความแตกต่างกันที่มุมของแกนทั้งสาม และปริมาณของการย่นระยะภาพแบบกินตาของแต่ละแกนว่ามีมากน้อยแตกต่างกันเพียงไร ส่วนการถ่ายทอดรูปร่างวัตถุโดยวิธีลากเส้นขนานแบบออบบลิคนั้น จะถ่ายทอดวัตถุนั้นในลักษณะที่แกนสองแกนของวัตถุจะขนานไปกับพื้นระนาบภาพ ทำให้ด้านหน้าของรูปเหลี่ยมนั้นหันเข้าหาผู้ดูลักษณะตรง ไม่เอนเอียง คือมุมทั้งสี่ของด้านนี้จะเป็นมุม 90 องศา ส่วนด้านอื่นๆนั้นจะขึ้นอยู่กับองศาของมุมในแกนที่สามว่าทำมุมเช่นไร และมีการย่นระยะภาพมีลักษณะกินตามากน้อยเช่นไร โครงสร้างเช่นนี้เรียกกันโดยทั่วไปว่า ทัศนียภาพวิสัยเชิงเส้นเฉียง หรืออาจจะเรียกในชื่อหนึ่งว่า การถ่ายรูปร่างวัตถุโดยวิธีลากเส้นขนานแบบคาวาลิเยร์

 

การถ่ายทอดรูปร่างวัตถุในงานเขียนแบบ (Oblique Projection)

การถ่ายทอดรูปร่างวัตถุในงานเขียนแบบ (Oblique Projection)

                การถ่ายทอดรูปร่างวัตถุในงานเขียนแบบ โดยวิธีลากเส้นเฉียง โดยเส้นของเส้นแกนของวัตถุ 2 เส้น จะขนานไปกับพื้นระนาบภาพ ทำให้ด้านหน้าของวัตถุประเภทแท่งเหลี่ยม แสดงให้เห็นในลักษณะสัดส่วนที่เป็นจริง คือมีมุมทั้งสี่เป็นมุม 90 องศา แกนที่สามของวัตถุจะแสดงในลักษณะเฉียง และมีสัดส่วนที่ตัดทอนในลักษณะกินตา ถ้าแกนที่สามอยู่ในมาตราส่วนเดิม แต่ทำมุมกับพื้นระนาบภาพลดลง 45 องศา การถ่ายรูปร่างในแบบนี้เรียกว่า การถ่ายรูปร่างวัตถุแบบคาวาลิเยร์

 

ผังภาพในการวาดเขียน (Schema)

ผังภาพในการวาดเขียน (Schema)

                ผังภาพในการวาดเขียน ภาพที่ถ่ายทอดแผนผังในลักษณะสามัญอย่างง่ายๆ ทั่วๆไป เพื่อแนะให้รู้ถึงลักษณะการจัดวางและสัดส่วนที่ถูกต้อง ผังภาพเรขาคณิตมักจะถูกนำมาใช้ในการสอนนักเรียนเกี่ยวกับการวาดร่างคนโดยใช้รูปกรวย แท่งเหลี่ยม และเส้นแสดงความสัมพันธ์และสัดส่วนของร่างกาย เช่น ส่วนหัว ส่วนอก และแขนขา ส่วนหัวมักจะถูกทดแทนด้วยรูปไข่ เส้นตั้งบนรูปไข่บอกถึงแนวสันกลางบนใบหน้าซึ่งเป็นที่ตั้งของจมูกปากและคาง ส่วนเส้นโค้งที่ตัดขวางจะบอกถึงที่ตั้งของดวงตา ปลายจมูกและปาก

 

ภาพวาดปูนแห้ง (Secco)

ภาพวาดปูนแห้ง (Secco)

                ภาพวาดปูนแห้ง เป็นกลวิธีการสร้างจิตรกรรมฝาผนังบนพื้นปูนปลาสเตอร์แห้ง คำนี้ยังใช้เรียกชื่อผลงานสำเร็จอีกด้วย คำว่า เซกโก เป็นภาษาอิตาเลียนแปลว่า “แห้ง” กลวิธีนี้บางครั้งก็ใช้คำที่มีความหมายตรงกันข้ามมาใช้เรียกอยู่ร่วมกันในคำๆเดียวว่า เฟรสโก เซกโก (เฟรสโก แปลว่า สด) การทำงานภาพวาดปูนแห้งนี้ทำโดยการใช้สีที่บดผสมกับตัวผสานเนื้อสี เช่น โปรตีนน้ำนมหรือสารข้นผสานเนื้อสีฝุ่นชนิดอื่น แล้วใช้ระบายบนผนังปูนที่แห้งอยู่ตัวแล้ว ผลที่ได้ก็คือภาพที่มีสีสดใส แต่ก็มีความด้านซึ่งก็คล้ายคลึงกับภาพวาดปูนเปียก เพียงแต่สีจะไม่สดแจ่มและเข้มข้นหรือบริสุทธิ์เท่า นอกจากนั้นแล้วภาพวาดปูนแห้งไม่ทนทานถาวรดีเท่าภาพวาดปูนเปียก ซึ่งปูนที่ยังเปียกอยู่จะดูดซับและรัดเนื้อสีเข้าไปในเนื้อ ทำให้สีมิใช่เป็นแต่เพียงวัสดุที่จับอยู่บนผิวผนังแบบปูนแห้งแต่กลายเป็นเนื้อเดียวกับผนังไป แม้ว่าการวาดภาพปูนแห้งจะเป็นวิธีการเก่าแก่วิธีหนึ่ง แต่ก็มักจะถือกันว่าเป็นวิธีการที่ดีรองลงมาและใช้ในแง่เป็นหนทางทดแทนวิธีการที่ดีที่สุดเท่านั้น เนื่องจากกระบวนการทำงานในวิธีการนี้ย่นเวลาและประหยัดเนื้อที่ในการทำงาน รวมทั้งประหยัดทุนทรัพย์ หรือเพราะเงื่อนไขอื่นๆ เพื่อทดแทนการทำงานในแบบภาพวาดปูนเปียกแท้
                ตามประวัติการทำงานกลวิธีวาดภาพปูนแห้งซึ่งนิยมทำกันอย่างกว้างขวางในช่วง คริสต์ศตวรรษที่สิบเอ็ด เขาจะซัดผนังปูนปลาสเตอร์บริสุทธิ์ที่โบกจนแห้งสนิทดีแล้วด้วยน้ำปูนใสหรือน้ำบาริตาจนเปียกโชก 1 คืนก่อนหน้าที่จะระบายสีและทำซ้ำอีกครั้งในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น สีที่ระบายผนังจะเป็นสีผสมโปรตีนน้ำนม ที่ผสมกับปูนขาวที่จะช่วยให้สีเกาะยึดได้ทนทาน วิธีการนี้เรียกกันว่า การระบายสีแบบเปียกบนเปียกด้วยปูน ในกลวิธีวาดภาพปูนขาวผสมกับน้ำจนมีลักษณะคล้ายน้ำนม ไม่ใช่น้ำปูนใสเช่นวิธีการแรก สำหรับเนื้อสีที่มีมักจะแห้งแล้วร่อนหลุดเป็นผง (เช่น สีดำ หรือสีน้ำเงิน) จะเติมโปรตีนน้ำนมลงในเนื้อสีผสมเล็กน้อย ศิลปินภาพปูนแห้งมักไม่สามารถทนทำงานกับผนังขาวสว่างจ้าได้นาน จึงมักจะเจือสีลงเพื่อทำให้ผนังมีสีหม่นลงเล็กน้อย ศิลปินมักระบายสีภาพชนิดนี้สองชั้นทับกัน ชั้นแรกที่ระบายมักเป็นสีอ่อนกว่าชั้นที่ระบายทับ
                คำว่า เซกโก มักจะพบเห็นในหนังสือหรือข้อเขียนของนักเขียนชาวอิตาเลียน เชนนิโน เชนนินี (ประมาณ ค.ศ. 1370 – 1440 ) และนักเขียนอื่นๆ ในลักษณะของการแต่งภาพวาดปูนเปียกที่แห้งแล้วด้วยสีฝุ่นหรือการใช้สีบางชนิดซึ่งต้องใช้ตัวผสานเนื้อสีเพื่อปกป้องมิให้สีหลุดร่อน เช่น สีอุลตรามารีนแท้ ระบายทับลงบนภาพวาดปูนเปียกที่แห้งแล้ว  

 

กลวิธีวาดภาพปูนเปียก (Fresco)

กลวิธีวาดภาพปูนเปียก (Fresco)

                กลวิธีวาดภาพปูนเปียก เป็นกลวิธีของการวาดภาพฝาผนังแบบแรกๆ ที่ใช้สีติดทนผสมกับน้ำระบายลงบนผนังที่ฉาบปูนขาวสดๆ คำๆนี้ก็ยังใช้เรียกชื่อผลงานที่กระทำด้วยกลวิธีนี้อีกด้วย คำว่า เฟรสโก (ภาษาอิตาเลียน แปลว่า “สด ”) นี้บางครั้งก็เรียกว่า บวนเฟรสโก หรือ เฟรสโกแท้ เพื่อแยกออกจากกลวิธีแบบเซ็กโก หรือเมซโซเฟรสโก ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกัน
                ในกลวิธีวาดภาพปูนเปียก ผนังปูนเปียกจะดูดซับเนื้อสีด้วยปฏิกิริยาการดึงดูดของอณูปูนในผนังที่เปียก ทำให้สีซึมลงไปในเนื้อปูนเป็นเนื้อเดียวกัน ถ้ากลวิธีนี้ทำในอาคารด้วยการเตรียมพื้นปูนอย่างมีประสิทธิภาพ ภาพวาดปูนเปียกจะมีความทนทานเป็นที่สุด สีที่ระบายก็จะคงสภาพอยู่ได้นาน มิใช่เพราะว่ามีเยื่อของปูนปกป้องอยู่ดังที่เคยเชื่อกัน แต่เนื่องมาจากว่าภาพชนิดนี้ระบายด้วยเนื้อสีที่ผสมด้วยสารเคมีที่ทำให้มีความเฉื่อย ภาพวาดปูนเปียกไม่เหมาะที่จะเป็นภาพประดับผนังภายนอก เพราะศัตรูตัวสำคัญของภาพชนิดนี้คือ มลภาวะในอากาศและฝุ่นผงที่เสียดสีสร้างความสึกกร่อนเสื่อมโทรมให้แก่ผลงานวาดชนิดนี้ กลวิธีวาดภาพปูนเปียกเป็นกลวิธีที่มีคุณสมบัติของการวาดภาพฝาผนังที่ดีครบถ้วน มีพื้นผิวด้านที่ดีสมบูรณ์แบบ สีของภาพสดใส เป็นภาพฝาผนังที่มีรูปแบบเหมาะแก่การประดับขนาดใหญ่ และมีความคงทนที่ยาวนาน
                การทำผนังปูนเปียกนั้นจะมีปฏิกิริยาตามขั้นตอนอย่างเที่ยงตรง จะต้องเตรียมผนังปูนหลายชั้นก่อนการระบายสี ผนังปูนประกอบด้วยปูนชั้นแรกซึ่งเป็นชั้นปูนหยาบ ที่เรียกว่า ชั้นขีดข่วน หรือภาษาอิตาเลียนเรียกว่า ตรูลิซาซิโอ ชั้นปูนสีน้ำตาล หรืออาร์ริกโช ชั้นทราย หรือ อเรนาโต และชั้นระบายสีหรือเรียกในภาษาอิตาเลียนว่าชั้นอินโตนาโก ปกติแล้วก่อนที่ชั้นถัดจากชั้นสุดท้ายจะแห้ง จะมีการถ่ายลายที่ร่างไว้บนกระดาษลายปรุด้วยการแตะ ลูกประคบผงถ่านไปตามรอยปรุ แล้วเน้นเส้นด้วยสีน้ำสีแก่ เพื่อให้เห็นเส้นร่างได้ชัดขึ้น (ระหว่างยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาภาพร่างมักจะวาดร่างลงโดยตรงบนชั้นปูนอเรนาโตด้วยสีซีโนเปียซึ่งเป็นสีผสมสนิมเหล็กตามธรรมชาติ และชื่อนี้ก็มักใช้เรียกภาพร่างไปด้วย) ปูนชั้นอินโตนาโกจะฉาบลงบนภาพร่างทีละส่วน (เรียกว่าจอร์นาเต) กว้างเท่าที่ศิลปินคาดว่าตนเองจะสามารถระบายสีให้เสร็จได้ในแต่ละครั้ง แล้วแตะลูกประคบลงบนลายปรุซ้ำในปริมณฑลที่เหมาะสมต่อไป ศิลปินจะระบายสีลงบนชั้นปูนอินโตนาโกจนกว่าจะหมดเวลา  หรือจนกว่าผนังปูนจะแห้งเกินกว่าจะดูดซับสีได้ดี ปูนในบริเวณที่ยังมิได้ระบายจะต้องถูกตัดทิ้งไปแล้วโบกใหม่ก่อนหน้าการวาดส่วนต่อไป การเชื่อมผนังปูนใหม่เข้าด้วยกันกับผนังเก่าจะต้องทำโดยวางแผนอย่างระมัดระวังมาก่อน เช่น ต้องทำในบริเวณที่มีรอยเส้นแสดงทรง และไม่ควรต่อในบริเวณที่เป็นสีพื้นสีเดียวเรียบๆ นอกเสียจากว่าเป็นภาพประดับบนผนังสูงซึ่งบริเวณปูนที่โบกใหม่ที่เรียกว่า พอนตาตา จะต้องโบกตามแนวนอนเป็นแถบๆ มีความกว้างตามระดับความสูงของนั่งร้านที่ค่อยๆลดระดับลง
                กลวิธีวาดภาพปูนเปียกเป็นกลวิธีที่ใช้ในระยะเริ่มแรกของอารยธรรมแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เช่นในอารยธรรมมิโนนที่เกาะครีต และใช้กันตลอดมาในประวัติศาสตร์ศิลปะของทวีปยุโรป ภาพปูนเปียกชุดเยี่ยมยอดซึ่งสร้างขึ้นระหว่าง 200 ปีก่อนคริสตกาล และ 600 ปีก่อนคริสตกาลในวิหารถ้ำอะชันตะ ที่ประเทศอินเดีย ซึ่งสร้างความพิศวงให้แก่นักวิชาการศิลปะ เนื่องจากเป็นผลงานที่ปราศจากร่องรอยของรอยต่อบนภาพดังที่ควรจะมีปรากฏ
                ครูช่างชาวอิตาเลียนในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาพัฒนากลวิธีวาดภาพปูนเปียกจนถึงขั้นสูงสุด ผลงานชิ้นที่งดงามอย่างยิ่งทำโดยจอตโต (ค.ศ.1267 – 1337) อยู่ในโบสถ์อรีนาที่ปาดัว และในวัดของนักบุญฟรานเชสโก ที่อัสสิสิ และผลงานของปิเอโร เดลลา ฟรันเชสกา (ประมาณ ค.ศ. 1420 – 1492) ในวัดของนักบุญฟรานเชสโก แห่งอเรซโซ และที่ปาลาสโซ คอมมูนาเล ที่ซาน เซโปลโกร งานของมิเคลันเจโล (ค.ศ. 1475 – 1564) ในโบสถ์ซีสทีนของวาติกัน และของราฟาแอล (ค.ศ. 1483 – 1520) ในสแตนซา เดลลา เซญนาตูรา และลอจเจ ที่วาติกัน
                หลังจากคริสต์ศตวรรษที่สิบเจ็ดความนิยมใช้กลวิธีวาดภาพปูนเปียกแท้ในการสร้างสรรค์ภาพฝาผนังเสื่อมถอยลง และกลับมาฟื้นฟูกันใหม่ในประเทศเม็กซิโก ในการทำงานของโฮเซ เกลเมน โอราชโก (ค.ศ. 1883 – 1949) และดิเอโก รีเวรา (ค.ศ. 1886 – 1957) ในอเมริกาโครงการสหพันธ์ศิลปะ (ค.ศ. 1935 – 1943) ให้ทุนในการสร้างภาพปูนเปียกหลายชิ้นเพื่อตกแต่งอาคารสาธารณะหลายแห่ง
                จิตรกรรมกลวิธีวาดภาพปูนเปียกที่มีขนาดใหญ่ มีราคาสูง และจะต้องสละเวลาให้กับการทำงานอย่างมาก ทำให้กลายเป็นกิจกรรมการทำงานที่ท้าทายในปัจจุบัน เนื่องจากจิตรกรจะต้องอาศัยความช่วยเหลือของลูกมือในการโบกปูนหรือช่วยด้านอื่นๆ และงานนี้จะต้องอาศัยความช่วยเหลือของลูกมือในการโบกปูนหรือช่วยด้านอื่นๆ และงานนี้จะต้องใช้เนื้อที่ทำงานซึ่งอาจเป็นอุปสรรคแก่การใช้สถานที่ หรืออาจเป็นสาเหตุให้การทำพิธีเปิดอาคารล่าช้าลง การทำงานกลวิธีนี้จึงถูกดัดแปลงตัดทอนขั้นตอนกระบวนการลงเพื่อทำให้งานสำเร็จรวดเร็วและสะดวกขึ้น ภาพฝาผนังจึงมักระบายด้วยสีน้ำมันกันเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ยังใช้สีประเภทโปรตีนน้ำนม สีพอลิเมอร์ กลวิธีวาดภาพฝาผนังปูนแห้งและสีฝุ่นด้วยเหมือนกันงานภาพวาดปูนเปียกปัจจุบันมักจะทำบนฝาผนังด้านเดียวในห้องขนาดเล็ก

 
 

หลักทัศนียภาพวิทยาเชิงเส้น (Linear perspective)

หลักทัศนียภาพวิทยาเชิงเส้น (Linear perspective)

                หลักทัศนียภาพวิทยาเชิงเส้น ระบบมาตรฐานของทัศนียภาพวิทยาเชิงเส้นเรขาคณิต ซึ่งมีมาตรฐานมาจากโครงสร้างบนพื้นระนาบภาพ (Picture plane) ซึ่งอาจมาจากโครงสร้างที่มีอยู่จริงหรือจินตนาการขึ้น โครงสร้างนั้นอยู่ในลักษณะของเส้นซึ่งตั้งฉากคู่ขนานกัน เบนเข้าบรรจบกันที่จุดรวมสายตา(Vanishing point) บนเส้นขอบฟ้า (Horizon line) พื้นระนาบภาพจะแบ่งความลึกของพื้นที่ตามแนวนอนออกเป็นเขตต่างๆ ( Zones of recession) โครงสร้างของรูปแท่งสี่เหลี่ยมผืนผ้าอาจถูกถ่ายทอดตามหลักทัศนียภาพวิทยาเชิงเส้นได้ 3 ระบบ คือ หลักทัศนียวิสัยเชิงเส้นขนาน หลักทัศนียวิสัยเชิงมุม และหลักทัศนียวิสัยเชิงเส้นเฉียง (Parallel perspective, Angular perspective, Obvious perspective) หลักทัศนียภาพวิทยาเชิงเส้นซึ่งได้คิดค้นและฝึกฝนกันมาตั้งแต่สมัย ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา เป็นระบบการถ่ายทอดความเป็นสามมิติลงบนผลงานสองมิติที่แตกต่างไปจากการถ่ายทอดทัศนียวิทยาเชิงอากาศ (Aerial perspective) ซึ่งมีรากฐานจากการใช้สีระบายสร้างมิติหรือความรู้สึกนูน-เว้า ใกล้-ไกล ขึ้นในภาพ หรือจากระบบเฉพาะ เช่น การถ่ายทอดโดยใช้วิธีการ ทัศนียวิสัยเชิงลอย (Sotto in su) ซึ่งใช้ในการแก้ปัญหาด้านทัศนวิสัยบางประเภท โดยเฉพาะ เมื่อผลงานศิลปะถูกกระทำโดยยึดหลักเกณฑ์ด้านทัศนียภาพวิทยาเชิงเส้นอย่างเป็นระบบ ผลงานนั้นจะได้รับการขนานนามว่า เป็นงานที่ยึดหลักเกณฑ์อย่างเคร่งครัด แต่จากคำแนะนำในตำรา หรือคู่มือสำหรับการปฏิบัติงานศิลปะ ซึ่งเขียนขึ้นในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 18 เกี่ยวกับเรื่องการใช้หลักการทัศนียภาพวิทยา มักจะแนะจิตรกรมิให้ยึดติดกับหลักการอย่างเอาเป็นเอาตายจนเกินไปนัก

 
ภาพวาดลายเส้น (Line Drawing)
ภาพวาดลายเส้น (Line Drawing)
                ภาพวาดลายเส้น เป็นงานวาดเขียนซึ่งถ่ายทอดรูปลักษณ์ต่างๆ ด้วยเส้นดังเช่น การวาดเส้นขอบและการวาดเส้นแสดงทรง
รวมทั้งการสร้างความลวงตาของมิติที่ 3 ใน งานจิตรกรรมด้วยเส้นโดยใช้ดินสอ ปากกา สีเทียน หรือเครื่องมือปลายโลหะที่ใช้เขียนเส้น
ในแม่พิมพ์โลหะต้นแบบของภาพพิมพ์แกะลายเส้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลวิธีการพิมพ์ที่ใช้เส้น
 
จำนวนผู้เข้าชม
AmazingCounters.com