ศิลปะกอธิก (Gothic)

 

ศิลปะกอธิก (Gothic)

                ศิลปะกอธิก หมายถึงศิลปะในทวีปยุโรประหว่างกึ่งคริสต์ศตวรรษที่สิบสองถึงกึ่งคริสต์ศตวรรษที่สิบห้า โบสถ์ในแบบอย่างกอธิกแห่งแรกเริ่มสร้างขึ้นในประเทศฝรั่งเศส ใน ค.ศ. 1137 และตั้งแต่ ค.ศ. 1200 เป็นต้นไป แบบอย่างของสถาปัตยกรรมนี้ก็แพร่หลายไปสู่หลายประเทศ ยุคที่ศิลปะกอธิกรุ่งเรืองสูงสุดอยู่ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่สิบสามและสิบสี่ ถึงแม้ว่าในขณะนั้นรูปแบบของศิลปะกอธิกยุคหลังคริสต์ศตวรรษที่สิบห้า  ซึ่งเป็นแบบชนชั้นสูงที่หรู ยังมิได้พัฒนาเต็มที่นัก รูปแบบของจิตรกรรมและประติมากรรมในแบบอย่างศิลปะกอธิกนานาชาติ ซึ่งมีรูปแบบคล้ายคลึงกันทุกชาติเกิดขึ้นในช่วง ค.ศ. 1400-1420 จนกระทั่งศิลปะในแบบอย่างของยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาค่อยๆ เข้ามาแทนที่โดยเริ่มก่อตัวขึ้นก่อนในประเทศอิตาลี สถาปัตยกรรมกอธิกโดยเฉพาะที่เห็นได้จากโบสถ์ที่สำคัญๆ หลายโบสถ์นั้นมีลักษณะเด่น คือ โค้งยอดแหลม โค้งคูหาสันไขว้ และครีบค้ำยัน ลอยที่ทำเอื้ออำนวยให้สามารถทำผนังหิน ภายในโปร่งบางการจัดพื้นที่ว่างนั้นมุ่งสร้างให้สูงชะลูด ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการแสวงหาแดนสวรรค์ของพระเจ้า ในช่วงของศิลปะกอธิกแบบชนชั้นสูงนั้น รูปสลักที่ใช้ในการประดับตกแต่งมีลักษณะแบบลายลูกไม้ประดับประดาอย่างตระการตา มีการรื้อฟื้นการสร้างประติมากรรมขนาดใหญ่ขึ้นมาใหม่เป็นครั้งแรกในสมัยกอธิกหลังจากที่เลิกร้างไปนาน ประติมากรรมในระยะนี้สง่างาม อ่อนช้อยและเร้าอารมณ์ความรู้สึกของผู้ดู แม้แต่แบบอย่างศิลปะกอธิกนานาชาติก็มุ่งเน้นที่จะรื้อฟื้นการสร้างประติมากรรมแบบคำนึงถึงการวางน้ำหนัก ปริมาตร ไปพร้อมๆ กับการแสวงหาวิธีแสดงออกให้เหมือนจริง

                ในด้านจิตรกรรมและผลงานศิลปะประเภทหนังสือเลขาวิจิตรมีการพัฒนาถึงขีดสูงสุดในยุคกอธิกนี้ แม้แต่กลวิธีวาดภาพปูนเปียกและจิตรกรรมแผงก็มีบทบาทสำคัญมากขึ้นโดยเฉพาะในอิตาลี คริสต์ศตวรรษที่สิบสี่ซึ่งเป็นผลงานสกุลช่างเซียนเนสและจอตโตแบบอย่างศิลปะกอธิกนานาชาติทางด้านจิตรกรรมแสดงให้เห็นถึงหลักฐานของการถ่ายทอดรูปทรงที่ละเอียดขึ้น การบันทึกรายละเอียดต่างๆ เหมือนจริงมากขึ้น และเริ่มถ่ายทอดแสดงในภาพอย่างมีอิสระขึ้น ระหว่างกึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่สิบสามซึ่งเป็นยุคเฟื่องฟูของโบสถ์วิหาร งานศิลปะกระจกสีก็พลอยพัฒนาถึงขีดสูงสุดด้วย

                ในประเทศอังกฤษนั้น รูปแบบสถาปัตยกรรมกอธิกยุคต้น กลางและปลายมีชื่อเรียกตามลำดับ คือ อังกฤษยุคต้น ลักษณะประดับประดาและตั้งตรงตระหง่าน อังกฤษยุคปลายมีพัฒนาการราวต้นคริสต์ศตวรรษที่สิบสี่ รูปโฉมของโบสถ์อังกฤษไม่มีลักษณะของความสูงตระหง่าน ซึ่งแตกต่างไปจากรูปแบบของโบสถ์ในทวีปยุโรปในช่วงเวลานั้น

                ในด้านอักษรวิจิตรหรืออักษรคัดลายมือ หมายถึงการเขียนตัวอักษรประดิษฐ์ ซึ่งพัฒนาขึ้นระหว่างคริสต์ศตวรรษที่สิบสอง ส่วนใหญ่เป็นการฝึกฝีมือในอารามซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ทั้งในด้านอักขระและศิลปะในยุคกลางนี้ นอกจากนี้ก็เป็นการฝึกในมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งเป็นสถานที่ฝึกโดยตรง ตัวอักษรกอธิกมีรูปแบบที่ต้องใช้ฝีมือสูง ตัวอักษรมีทั้งเน้นที่ลากลงเป็นเส้นหนา และลากขึ้นเป็นเส้นบาง และตวัดที่ปลายเส้น ตัวอักษรจะเรียงในลักษณะเน้นแนวตั้งซึ่งเขียนด้วยฝีมือที่เที่ยง ลงน้ำหนักมือสม่ำเสมอกันตลอดทั้งหน้า ทำให้เมื่อดูตัวอักษรที่ปรากฏอยู่ในหน้าหนังสือแต่ละหน้าเหมือนหน้าหนังสือถูกปกคลุมด้วยเส้นของหมึก ซึ่งเป็นที่มาของชื่อที่เรียกอีกชื่อหนึ่ง คือ “คัดลายมือตัวดำ” ที่จริงแล้วอักษรวิจิตรในสมัยกลางนี้มีรูปแบบหลากหลาย แต่มีแบบหลักๆ ที่ใช้กันอยู่ 3 แบบ อักษรกอธิกแบบเป็นทางการสำหรับใช้ในการเขียนหนังสือสวดมนต์ คำจารึก และเครื่องหมายหรือตรา ตัวอักษรแบบลายมือที่เขียนอ่อนช้อย มักใช้เขียนเอกสารด้านกฎหมาย ส่วนประเภทที่ 3 คือ อักษรแบบนักการทูตอิตาลี (Italian Chancery) หรือลูกกำพร้าฝรั่งเศส (French Bastard) ซึ่งเป็นแบบที่โด่งดัง ตัวอักษรกอธิกแบบลายมือเขียนเป็นแบบมี่ผู้คนนิยม ใช้ในการเขียนทั่วไป เป็นแบบที่ให้ความรู้สึกกันเอง ขบวนการมนุษยนิยมของคริสต์ศตวรรษที่สิบห้าเปลี่ยนโฉมหน้าของตัวอักษรวิจิตร มีการปฏิวัติรูปแบบของตัวอักษร โดยนำเอาตัวอักษรแบบโรมันและอิตาลิก มาใช้แทนที่ตัวอักษรแบบกอธิก แต่ก็ยังมีการใช้กันอยู่บ้างในประเทศอังกฤษและประเทศเยอรมนีซึ่งในประเทศหลังนี้ใช่ต่อมาเป็นเวลานาน แม้กระนั้นตัวอักษรแบบกอธิกก็ยังเป็นที่นิยมใช้ในหมู่ช่างพิมพ์ซึ่งใช้ตัวพิมพ์กอธิกในการพิมพ์ ช่างพิมพ์ในระยะแรกๆนี้ได้แก่ กูเตนแบร์ก และวิลเลียม แค็กสตัน แต่ตัวพิมพ์แบบกอธิกไม่เป็นที่นิยมเทียบเท่ากับอักษรแบบโรมันและอิตาลิก เนื่องจากไม่เป็นมาตรฐานพอนอกเสียจากแบบบางแบบ ได้แก่แบบที่เรียกว่า ตัวดำ ซึ่งนำมาใช้ในสิ่งพิมพ์ประเภทใบประกาศ บัตรเชิญ สำหรับงานที่เป็นพิธีการหรือใช้ในการแสดงงาน หรือสิ่งพิมพ์ที่ต้องการใช้ตัวอักษรเพื่อสร้างความสะดุดตา ตัวอักษรอีก 3 แบบ คือ ตัวอักษรงานแต่งงาน (Wedding Text) ตัวอักษรอังกฤษโบราณของช่างจารลายเส้น (Engraver’s Ole English) และตัวดำแบบสังฆสถาน  (Cloister Black) เป็นชื่อชนิดตัวพิมพ์ที่พัฒนารูปแบบมาจากอักษรแบบกอธิก  ตัวพิมพ์สมัยใหม่ที่ไม่มีเส้นขวางที่เท่าตัวอักษร เช่น ฟิวทูรา โวค และแฟรงคลิน กอธิก ล้วนแต่เป็นรูปแบบที่มาจากตัวอักษรแบบกอธิกทั้งสิ้นซึ่งรู้จักกันในนามของตัวพิมพ์แบบกอธิกอีกด้วย ชื่อกอธิกในที่นี้จะใช้ทั้งในลักษณะวิสามัญนามหรือสามัญนามก็ได้ รูปแบบของตัวอักษรสมัยใหม่ที่กล่าวถึงข้างท้ายนี้ ที่จริงแล้วมิได้มีความคล้ายคลึงกับอักษรวิจิตรแบบกอธิกประการใดเลย ลักษณะเด่นๆ ของตัวพิมพ์แบบนี้ ได้แก่ การตัดเอาเส้นขวางที่เท้าตัวอักษรทิ้งไป และตัวอักษรมีเส้นหน้าสม่ำเสมอกันทั้งตัว

 
 
จำนวนผู้เข้าชม
AmazingCounters.com