ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance)
ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา ยุคที่มีระยะเวลาค่อนข้างสั้นแต่มีบทบาทที่สำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ศิลปะและวัฒนธรรมของประเทศแถบตะวันตกของทวีปยุโรปที่ตามหลังยุคกลางต่อมา เป็นยุคของการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ที่ทันสมัย คำนี้เป็นคำในภาษาฝรั่งเศส แปลว่า “เกิดใหม่” ซึ่งก็มิได้ หมายความว่าศิลปะในช่วงก่อนหน้านี้ได้ตายไปแล้ว แต่หมายถึงการนำเอาจิตวิญญาณและสุนทรียรสแห่งศิลปะกรีกและโรมันโบราณขึ้นมาฟื้นฟูกันใหม่อีก เป็นช่วงเวลาที่ศิลปะกลับมาคำนึงถึงความสำคัญของความเป็นมนุษย์ซึ่งสะท้อนในหลักปรัชญาที่เรียกว่า “มนุษยนิยม” ศิลปินเน้นถึงเรื่องราวของมนุษย์ในเชิงความสำคัญเฉพาะบุคคลและชีวิตทางโลก แม้ว่านักปราชญ์ด้านศิลปะซึ่งรวมทั้งนักประวัตศาสตร์ศิลปะจะยังถกเถียงกันและไม่สามารถสรุปได้ว่ายุคฟื้นฟูศิลปวิทยานี้มีระยะเวลาที่แน่นอนเช่นไร แต่อาจกล่าวได้อย่างคร่าวๆว่า ศิลปะในยุคฟื้นฟูของประเทศอิตาลีนั้น เริ่มขึ้นที่ นครฟลอเรนซ์ ใน ค.ศ.1400 และดำเนินไปจวบจนถึงวันตายของ มิเคลันเจโล บูโอนาร์รอตติ (ค.ศ.1475 – 1564) หรือถ้าใน นครเวนิส ยุคนี้ก็สิ้นลงเมื่อวันที่ ตินโตเรตโต (จาโคโป โรบุสติ ค.ศ. 1518 – 1594) สิ้นชีวิตลง บางคนก็ถือว่ายุคนี้เริ่มขึ้นในสมัยของ จอตโตดี บอนโดเน (ค.ศ. 1267 – 1337) ในยุคที่ผลงานจิตรกรรมพัฒนาสูงสุด ทั้งในด้านของกลวิธี และความงดงามของผลงานที่สมบูรณ์แบบซึ่งอยู่ราว ค.ศ. 1500 ถึงประมาณ ค.ศ.1530 มักเรียกกันว่ายุคฟื้นฟูศิลปวิทยารุ่งเรืองสูงสุด ในตอนเหนือของทวีปยุโรปเป็นบริเวณที่ยังยึดมั่นกับงานศิลปะประเพณีของยุคกลางซึ่ง ถ่ายทอดกันต่อเนื่องไปอีกเนิ่นนานใน ดินแดนฟลานเดอร์สและเนเธอร์แลนด์ อาจกล่าวได้ว่า ศิลปะยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาเริ่มขึ้นในสมัยของ จิตรกรสองพี่น้องจาน (ค.ศ. 1385 -1441) และ ฮูเบิร์ต ฟานต์ไอค์ (ค.ศ. 1370 – 1426) และยุคนี้จบลงในสมัยของ พีเทอร์ บรูเกล ผู้พ่อ (ค.ศ. 1525 – 1569) แต่ผลงานจิตรกรรมในคริสต์ศตวรรษที่สิบห้าในกลุ่มประเทศเนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม ได้รับการขนานนามว่า “ความเฟื่องฟูแห่งยุคกลาง” ส่วนยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาในประเทศเยอรมนีเริ่มขึ้นใน สมัยของอัลเบรตท์ ดือเรอร์ (ค.ศ. 1471 – 1528) และดำเนินต่อไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสายสถาปัตยกรรมจนกระทั่งถึงกึ่งคริสต์ศตวรรษที่สิบเจ็ด อิทธิพลของจิตรกรรมเยอรมันยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาในงานของ จิตรกรฮันส์ ฮอลบายน์ ผู้บุตร (ค.ศ. 1498 – 1543) ได้ส่งอิทธิพลถึงจิตรกรรมในประเทศอังกฤษ แต่สถาปัตยกรรมแบบอย่างยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาของอังกฤษมิได้เริ่มขึ้นจนกระทั่งประมาณ ค.ศ. 1600 และอิทธิพลของแบบอย่างนี้ดำเนินไปจนเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่สิบแปด ในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยานี้มีการพัฒนาด้านกลวิธีทางจิตรกรรมก้าวหน้าไปอย่างมากรวมทั้งมีการคิดค้นประดิษฐกรรมอื่นๆ ขึ้นอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นศิลปะประเภทที่อาศัยหลักเกณฑ์ทางคณิตศาสตร์การผลิตเชิงอุตสาหกรรม การค้าและการสื่อสารระหว่างประเทศ ล้วนเปิดหนทางในด้านวัตถุดิบและกระบวนการใหม่ๆที่ก้าวหน้าให้แก่ยุคนี้ในประเทศอิตาลี ได้มีการคิดค้นระบบทัศนียภาพวิทยาเชิงเส้น และพัฒนาไปสู่การถ่ายทอดในผลงานศิลปะในหมู่จิตรกรและสถาปนิกซึ่งเริ่มใช้โดยประติมากร – สถาปนิกฟิลิปโป บรูเนลเลสคิ (ประมาณ ค.ศ. 1377 – 1446) รวมทั้ง ลีโอเน บัตตีสตา อัลเบอร์ติ (ค.ศ. 1404 – 1472) เปาโล อุชเชลโล (ค.ศ. 1396/7 – 1475) และเปียโร เดลลา ฟรันเชสกา (ประมาณ ค.ศ. 1420 – 1492) ในช่วงยุคนี้ได้เกิดนวัตกรรมที่สำคัญยิ่งต่อประวัติศาสตร์ด้านจิตรกรรมซึ่งเริ่มขึ้นใน คริสต์ศตวรรษที่สิบห้าคือ การคิดค้นสีน้ำมันขึ้นใช้ในผลงานจิตรกรรม และพัฒนาจนสมบูรณ์แบบในนครเวนิส เลโอนาร์โด ดาวินชี (ค.ศ. 1452 – 1519) เป็นคนแรกที่ใช้สีนี้ในการสร้างสรรค์ด้วยกลวิธีใช้ค่าต่างแสง (chiaroscuro) ในหมู่ของจิตรกรมีชื่อเสียงของยุคนี้ได้แก่ ซันโดร บอตติเชลลิ(ประมาณ ค.ศ. 1445 – 1510) และ ราฟาแอล ซันซิโอ(ค.ศ. 1483 – 1520) พัฒนาการในด้านจิตรกรรมอีกประการหนึ่งก็คือการสร้างสรรค์ภาพคนเหมือนที่ผู้เป็นแบบเป็นฆราวาส ซึ่งเป็นเนื้อหาทางศิลปะที่มิได้มีทำกันมาก่อน ตั้งแต่หลังยุคโรมันโบราณเป็นต้นมารวมทั้งผลงานถ่ายทอดภาพวิวทิวทัศน์ นอกจากนั้นก็มีพัฒนาการของศิลปะภาพพิมพ์ในรูปของภาพพิมพ์แกะไม้ ภาพพิมพ์แกะลายเส้นและภาพพิมพ์ที่กัดกรดซึ่งกลายเป็นสาขาศิลปะที่สำคัญ ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากการคิดค้นผลิตกระดาษในช่วงต้นๆ ของทศวรรษที่ 1400 ในด้านประติมากรรมก็มีการฟื้นฟูหลักการทางประติมากรรมแบบคลาสสิกที่มีต่อความงามทางกายภาพของมนุษย์ ซึ่งในยุคนี้ก็มีการพัฒนาจนเกิดผลงานชิ้นเยี่ยมมากมาย ดังเช่นงานของดอนนาเตลโล (ประมาณ ค.ศ. 1386 – 1466) ซึ่งมีอิทธิพลที่สำคัญต่อผลงานประติมากรรมร่วมสมัยของเขาและพัฒนาสูงสุดในผลงานแกะสลักประติมากรรมหินอ่อนขนาดใหญ่ของ มิเคลันเจโล