นวศิลป์ (Art nouveau)

 

นวศิลป์ (Art nouveau)

                 นวศิลป์ รูปแบบศิลปกรรมหมวดต่างๆทั้งในประเภทจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ สถาปัตยกรรมและงานออกแบบตกแต่งเกิดขึ้นประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 19 เริ่มที่ประเทศอังกฤษ ในช่วงทศวรรษที่ 1880 และมีอิทธิพลต่อศิลปกรรมสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นระหว่าง ค.ศ.1895 – 1905 ลักษณะที่สำคัญของรูปแบบศิลปะแบบอย่างนี้คือลวดลายประกอบด้วยเส้นโค้งอ่อนไหวคดเคี้ยวไปมาประดุจเถาไม้เลื้อย หรือเส้นคดเลี้ยวของแซ่ที่เกิดจากแรงสะบัด ในงานออกแบบตกแต่งมักประกอบด้วยรูปลวดลายดอกไม้ ใบไม้ ที่ถ่ายทอดในลักษณะเหมือนจริงซึ่งมิได้นิยมทันกันมา ในช่วงปลายของศิลปะแบบอย่างนี้งานออกแบบตกแต่งเกิดความนิยมใช้ลวดลายเส้นตรงหรือรูปเหลี่ยมกันอย่างกว้างขวาง แหล่งที่ส่งอิทธิพลต่อแบบอย่างของนวศิลป์ในวัฒนธรรมอังกฤษระหว่างกึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีหลายแหล่งด้วยกัน เช่น จากขบวนการศิลปหัตถกรรมของอังกฤษเอง ตลอดจนอิทธิพลของศิลปะเซลติค ศิลปะสไตล์โรโกโก งานศิลปะประดิษฐ์ตัวอักษรของตะวันออก ศิลปะญี่ปุ่นและสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นซึ่งรับอิทธิพลประการหลังนี้มีผลต่อการกำเนิดรูปแบบของนวศิลป์ยุคปลายๆ ซึ่งเป็นระยะที่ลวดลายประกอบด้วยเส้นตรง ขบวนการของศิลปะแบบอย่างนี้ แพร่หลายจากประเทศอังกฤษเข้าไปสู่ดินแดนยุโรปส่วนอื่นและประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งอิทธิพลไปสู่งานศิลปะประยุกต์ และการออกแบบตกแต่งทุกแขนงซึ่งยังมีหลงเหลือให้เห็นในปัจจุบัน แม้แต่ในสถาปัตยกรรมหล่อกรีด เช่น พิพิธภัณฑ์กูก์เก็นไฮม์ ซึ่งเป็นฝีมือของสถาปนิกชื่อดัง แฟรงก์ลอยก์ไรท์ หรือ  ตึกทีดับบลิวเอในสนามบินเคนเนดี ซึ่งออกแบบโดย อือโรซาริแนน ซึ่งอยู่ในนครนิวยอร์กทั้งสองแห่ง งานตัวอย่างของศิลปะแบบอย่างนี้มีให้เห็นมากมาย เช่น ตึกที่ออกแบบโดย แอนโทนีกออดิและวิคเตอร์ฮอร์ตา ภาพวาดของ ออเบรย์เปียสลีย์ งานเครื่องแก้วของหลุยส์ คอมฟอร์ดทิฟานี งานศิลปะตกแต่ง สถาปัตยกรรมและมัณฑนศิลป์ของอองดรีฟาเดเฟลเด และ หลุยส์ ซัลลิแวน รวมทั้งงานออกแบบเครื่องเรือนของ ชาร์ลสเรนนี แมคอินทอชส์ หรืองานภาพโฆษณาของ อัลฟองส์ มูชา ศิลปะแบบอย่างนี้ในประเทศฝรั่งเศสเรียกกันในนามของ Yatchting Style ส่วนในประเทศเยอรมันเรียกว่า Jugendstil ในประเทศออสเตรียเรียกว่า Sezession และในประเทศอิตาลีรู้จักกันในนามของ Stile liberty นักประวัติศาสตร์ศิลปะบางคนพยายามค้นหาความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันระหว่างรูปแบบของศิลปะสไตล์นวศิลป์นี้กับงานศิลปะรูปแบบแปลกใหม่ที่ตามมาในภายหลังพบว่ายุคที่นิยมเส้นลวดลายในลักษณะโค้งนั้นมีอิทธิพลต่อรูปแบบของศิลปะในลัทธิบาศก์นิยม(Cubism) ส่วนยุคที่นิยมลวดลายเส้นตรงนั้นส่งอิทธิพลต่อศิลปะในลัทธิพลรูปทรงแนวใหม่ (Neo-plasticism) บางส่วนสะท้อนให้เห็นในงานจิตรกรรมแบบสำแดงพลังอารมณ์ อิทธิพลของนวศิลป์นี้ยังสะท้อนให้เห็นในงานศิลปะสำคัญๆของจิตรกร เช่น โกแกงก์ ฟานก๊อก ตูลูส-โล เตรก โรแดง เอดเวอร์ด มุงก์ และ กุสตาฟ คริมท์


 
จำนวนผู้เข้าชม
AmazingCounters.com